วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รอบรู้ วิธีดูแลสุนัขที่ถูกต้อง

 


วิธีดูแลสุนัขที่ถูกต้อง (TSCPA)

           เพื่อให้สุนัขของท่านมีสุขภาพดี และมีความสุข สุนัขจำเป็นที่จะได้รับโภชนาการที่ให้ความสมดุลต่อร่างกาย การดูแลรักษาจากสัตวแพทย์โดยสม่ำเสมอ การออกกำลังกาย และที่สำคัญคือการได้ความรักความเอ็นดูจากเจ้าของ

ที่อยู่อาศัย

           สุนัขที่อยู่นอกบ้านควรจะมีที่กำบังจากแดด ฝน และลมหนาว

           สุนัขต้องการที่หลับนอนที่อบอุ่น/เย็นสบาย

           ถ้าจะผูกสุนัขไว้ ควรใช้เชือก/โซ่ยาว โปรดระวังโซ่หรือเชือกจะพันรอบตัวสุนัขทำให้ได้รับความเจ็บปวด

การให้อาหารและน้ำดื่ม

           สุนัข ต้องการสารอาหารเพื่อสร้างสมดุลร่าง กาย ประกอบด้วย โปรตีน และไฟเบอร์ อาหารเหลือจากครัวเรือน ย่อมไม่เพียงพอที่จะสร้างความแข็งแรง และรักษาสุขภาพที่ดีของร่างกายสุนัขได้

           อาหารที่เป็นเศษกระดูกแหลมคม อาจจะทิ่มลำคอหรือก่อให้เกิดปัญหาในลำไส้ ถ้าสุนัขกลืนเข้าไป

           น้ำควรจะมีให้สุนัขได้ดื่มกินเสมอในภาชนะที่สะอาด

การออกกำลังกาย    

           ไม่ควรผูกสุนัขไว้ตลอดเวลา เพราะสุนัขต้องการออกกำลังกายสม่ำเสมอ

           ควร ให้สุนัขได้มีโอกาสออกเดินในแต่ละวัน หรือเล่นสนุกกับของเล่นหรือลูกบอล ซึ่งจะทำให้สุนัข กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า ไม่ซึมเศร้า

           สุนัขที่ถูกกักไว้มักจะเห่าหอนรบกวนเพื่อนบ้าน

อนามัย 

           สุนัขที่ไม่ได้รับการเหลียวแล มักจะเกิด ไร ริ้น หมัด เหา และสัตว์กินเลือดต่างๆรบกวน โปรดปรึกษากับสัตวแพทย์

           รักษาสุนัขและที่อยู่อาศัยของเขาให้สะอาดเสมอ

การฉีดวัคซีน    

           สุนัขมักจะมีความเสี่ยงจากโรคร้ายต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุนัข และทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา

           การทำวัคซีนสุนัขจะช่วยป้องกันสุนัขเจ็บป่วยหรือเกิดโรค ซึ่งอาจแพร่ระบาดไปยังสุนัขตัวอื่นๆได้
      
การขยายพันธุ์สุนัข    

           ทุกๆ ปี สุนัขเป็นจำนวนนับพันนับหมื่นถูกทำลาย เพราะไม่มีที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ

           สุนัข เพศเมียสามารถให้กำเนิดลูกสุนัขได้ เป็นจำนวนหลายๆ ตัวในแต่ละปี ภายในระยะเวลา 6 ปี สุนัขแต่ละคู่สามารถผลิตลูกได้ถึง 67,000 ตัว โดยการให้กำเนิดและเลี้ยงลูก

           แม่สุนัขจะมีสุขภาพทรุดโทรมลง

           แม่สุนัขที่ตั้งท้อง ย่อมต้องการอาหารเป็นพิเศษ


           ลูกสุนัขตามปกติจะกินน้ำนมจากแม่ประมาณ 3 สัปดาห์ แล้วจะเริ่มกินอาหารได้ด้วยตัวเอง

           แม่สุนัขตามปกติจะดุและหวงลูกๆในช่วงเวลาดังกล่าว จึงควรจัดสถานที่ที่เงียบสงบปราศจากการรบกวนให้แม่สุนัขกับลูกๆได้อยู่

           เพื่อป้องกันในกรณีที่ไม่ต้องการลูกสุนัข โปรดนำสุนัขของท่านไปตอน/ทำหมัน จากสัตวแพทย์

การแปรงและทำความสะอาดขน    

           การแปรงขนเป็นประจำจะทำให้สุนัขสะอาดปราศจากกลิ่นหมักหมมแลดูเรียบร้อยและในขณะเดียวกันจะช่วยตรวจสอบพวกปรสิตได้

           การแปรงขนจะช่วยให้สุนัขเกิดความเคยชินเป็นนิสัยอีกด้วย
      
การทำหมัน    

           เครื่องมือและเวชภัณฑ์แพทย์สมัยใหม่ทำให้การผ่าตัดปลอดภัย ไม่เจ็บปวด แต่ฟื้นตัวเร็ว

           โปรดสอบถามกับสัตวแพทย์ว่าเมื่อใดที่เหมาะสมที่จะทำหมันและฉีดยาให้สุนัข

           สุนัขของท่านไม่จำเป็นที่จะรอให้ถึงระยะมีระดูก่อนทำหมัน

           การทำหมันตั้งแต่ต้นอายุ 8 สัปดาห์ ขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมโดยทั่วไป

           เมื่อสุนัขตัวเมียได้ทำหมัน ก็จะไม่กลับมาเป็นสัดอีก และจะไม่เป็นที่สนใจของสุนัขตัวผู้

           การทำหมันสุนัขตัวเมียสามารถช่วยลดความเสี่ยงเนื้องอกในเต้านมสุนัขได้

           นอกจากนี้ การทำหมันยังช่วยลดอาการดุร้ายและการเตร็ดเตร่ออกนอกบ้าน


ปรึกษาสัตวแพทย์ในกรณีต่อไปนี้    

           โภชนาการสุนัข การฝึกสุนัข

           การรักษาป้องกันพวกเชื้อโรคปรสิต

           การทำวัคซีน

           การตอน/ทำหมัน

           เรื่องอันเกี่ยวกับสุขภาพสุนัขโดยทั่วไป

วิธีเลี้ยงปลากัดให้กัดเก่ง

วิธีเลี้ยงปลากัดให้กัดเก่ง (เดลินิวส์)

         คุณสันธนะ พันธุมะโชติ หรือที่หลายคนเรียกชื่อสั้นๆ ว่า "น้าต้อม" เป็น คนทุ่งครุกรุงเทพมหานคร สนใจเลี้ยงปลากัดมาตั้งแต่เด็กขณะที่มีอายุได้ 7-8 ขวบ หัดเพาะปลากัดมาตั้งแต่เด็กได้ครอกหนึ่ง 5-10 ตัว ก็ดีใจแล้ว มาถึงปัจจุบันอายุได้ 45 ปี จากประสบการณ์ในการเลี้ยงปลากัดมานานกว่า 30 ปี มีบ่อปลากัดประมาณ 100 วงบ่อ เน้นการพัฒนาปลากัดสายพันธุ์นักสู้ โดยพัฒนาสายพันธุ์ มาจากปลากัดป่า อาทิ ปลากัดอีสาน, ปลากัดใต้และ ปลากัดมหาชัย เป็นต้น และขณะนี้ยังดำรงตำแหน่งประธานชมรมปลากัดจตุจักรทุ่งครุและมีการจัดการ ประกวดปลากัดชนิดต่างๆ เป็นประจำทุกปี

         คุณสันธนะ ได้บอกถึงคุณลักษณะของปลากัดเก่งจะต้องไม่เลี้ยงแบบขุนอาหารอย่างเดียว ถ้าปลาอ้วนไปจะไม่คล่องตัว และปลาที่จะออกกัดได้ควรจะมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 1 ปีครึ่ง ถ้าอายุมากกว่านี้จะกัดไม่เก่งแล้ว เทคนิคในการเลี้ยงปลากัดเก่งของคุณสันธนะจะเน้นในการกัดปากและกัดตาคู่ ต่อสู้ มีเชิงกัดดุและกัดได้อย่างรวดเร็ว "กัดปาก กัดตาและกัดเร็ว" คืออาวุธที่สำคัญของปลากัดเก่งและมีโอกาสชนะสูง ในการกัดปลาแต่ละครั้งจะต้องดูด้วยว่าปลาที่จะมากัดกันจะต้องมีอายุที่ใกล้ เคียงกัน มีบางคนนำปลาที่อายุน้อย (แต่ตัวใหญ่) ไปกัดกับปลาที่อายุมากกว่าถึงแม้จะขนาดตัวเล็กกว่าก็ตาม โอกาสปลาที่มีอายุน้อยแพ้มีสูงมาก เนื่องจากเขี้ยว, หนังและความแข็งแกร่งเทียบกันไม่ได้

         ในการเพาะขยายพันธุ์ปลากัดที่ฟาร์มแห่งนี้จะเน้นในการดูแลตัวเมียให้มี ความ สมบูรณ์ กระตุ้นตัวเมียด้วยการเอาตัวผู้มาเทียบกันประมาณ 3-4 วัน ในขณะที่เทียบกันนั้นทุกเช้าและเย็นจะนำตัวเมียปล่อย ลงไปให้ตัวผู้ได้ไล่สัมผัสกันหรือที่วงการปลากัดเรียกว่า "พาล" โดยปล่อยครั้งละประมาณ 5 นาที แล้วแยกออกมาเพื่อกระตุ้นให้ไข่ปลาได้สุกเร็ว แม่ปลาที่มีความสมบูรณ์จะเพาะได้ถึงครอกละ 500-700 ตัว

         คุณสันธนะได้สรุปถึงประเภทของอาหารที่จะใช้เลี้ยงปลากัดให้กัดเก่งว่า ถ้าใช้ลูกไรจะเลี้ยงได้ตั้งแต่เล็กจนโตจะช่วยให้หนังดี ตัวแห้งและไม่อ้วน สำหรับไรทะเลไม่ควรให้ปลากัดกินเนื่องจากมีความเค็ม ถ้าปลากัดกินมากจะถ่ายมากทำให้ปลาหมดกำลัง สูตรสำหรับเสริมอาหารแนะนำให้ใช้กุ้งฝอยทั้งเปลือกปั่นกับไข่ตุ๋นช่วยให้ปลา มีกำลังดีขึ้นหรืออาจจะใช้เนื้อปลาทูนึ่งยีให้ละเอียดและปั้นให้เป็นเม็ด เล็กๆ ขนาดขี้ไคลก็ได้

          ปัจจุบันราคาซื้อ-ขายปลากัดที่จะนำไปเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ของปลากัดเก่งถ้า เป็น ปลากัดป่าตัวเมียราคา 300 บาท, ตัวผู้ราคาตัวละ 100 บาท ถ้าเป็นปลากัดหม้อตัวเมียตัวละ 400 บาท ตัวผู้ 150 บาท

หมาแสนรู้ อ่านหนังสือได้

แสนรู้ (ข่าวสด)

          ข่าวจากแดนมะกัน บอกว่า ในมหานครนิวยอร์กมี "สุนัขแสนรู้" พันธุ์เทอร์เรีย อยู่ตัวนึง ชื่อ "วิลโลว์"

          "ลิซซา โรเซนเบิร์ก" เจ้านายวิลโลว์ ผู้มีอาชีพเป็นครูฝึกโฮ่ง เล่าว่า วิลโลว์ฝึกอ่านตัวอักษรและปฏิบัติตามคำสั่งได้ในเวลาแค่ 6 อาทิตย์เอง สาเหตุที่ฉันเริ่มฝึกมันก็เพราะเพื่อนท้าว่าถ้ามันอ่านออกจริงๆ จะจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวเม็กซิโกให้ฟรีๆ แล้วตอนนี้เพื่อนก็แพ้พนันซะแล้ว

          สำหรับ คำที่วิลโลว์อ่านออก และทำตามได้ทันทีก็เช่น พอเห็นคำว่า "ปัง" มันจะล้มลงไปนอนกลิ้งเหมือนถูกยิง, "นั่งลง" จะนั่งนิ่ง และ "โบกมือ" ก็ยกขาหน้าทักทาย

          ฉลาดขนาดนี้น่าจับส่งเข้าชั้นเรียนซะเลยดีมั้ย..อิอิ

ปัญหาขนอุดตันในทางเดินอาหารของเจ้าเหมียว

ปัญหาขนอุดตันในทางเดินอาหารของเจ้าเหมียว (นิตยสารโลกสัตว์เลี้ยง)

          เพราะแมวเป็นสัตว์ที่มีนิสัยรักสะอาด สังเกตได้จากการที่แมวมักจะชอบทำความสะอาดตัวเองโดยการเลียขนเกือบทั้งวัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเส้นขนหลุดเข้าไปอุดตันในทางเดินอาหาร ซึ่งปัญหาเส้นขนอุดตันในทางเดินอาหารเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในแมว แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่ถ้าไม่หาทางแก้ไขก็จะกลายเป็นปัญหาสะสมที่อาจทำให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อน ได้

          สำหรับเจ้าเหมียวที่มีขนหนา อย่างเช่นเจ้าเหมียวพันธุ์เปอร์เซียนั้น มักที่จะเลียขนตามตัวของเค้าแล้วกองรวมกันเป็นกระจุกอยู่บนลิ้น และขนเหล่านั้นก็จะถูกกลืนเข้าไปในช่องท้องจนทำให้เกิดการอุดตันในระบบการ ย่อยอาหาร กระจุกขนเหล่านี้จะเข้าไปก่อความระคายเคืองให้เกับเยื่อบุกระเพาะอาหาร และยังแทรกแซงการทำงานของระบบย่อยอีกด้วย

          อาการที่พบ จะสังเกตว่าเจ้าเหมียวจะพยายามสำรอกก้อนขนออกมา ซึ่งถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเข้า ระบบย่อยอาหารของเจ้าเหมียวก็จะทำงานผิดปกติ เกิดภาวะท้องผูก ร่างกายจะเริ่มซูบผอม น้ำหนักตัวลดลง และมีท่าทีเบื่ออาหาร

การป้องกันและการดูแลรักษาที่เหมาะสม

          ควรจะแปรงขนให้เจ้าเหมียวอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยเราจะพบว่ามีขนจำนวนมากมายทีเดียว ที่หลุดร่วงออกมาขณะที่เราแปรงขน ขนเหล่านี้แหละที่เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดการอุดตันในระบบย่อยอาหาร

          ถ้าพบว่าเจ้าเหมียวเลียทำความสะอาดขนตัวเองบ่อยครั้งผิดปกติล่ะก็ ให้สำรวจดูว่าเค้ามีปัญหาผิวหนังเกิดภูมิแพ้หรือไม่ หรือปัญหาเห็บหมัดมากเกินไปหรือเปล่า ให้รีบแก้ปัญหาเหล่านั้นโดยทันที

          การรักษาเริ่มแรก ควรเลือกอาหรที่มีส่วนประกอบของใยอาหารมากเป็นพิเศษให้กับเค้า อาจให้สัตวแพทย์ช่วยแนะนำก็ได้ อาหารเหล่านี้จะช่วยปรับให้ระบบย่อยอาหารทำงานเข้าสู่ภาวะปกติดได้เร็วยิ่ง ขึ้น

          การใช้ยาระบายก็จะช่วยรักษาอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน แต่ต้องใช้ยาระบาย แต่ต้องใช้ยาระบายสำหรับแมวโดยเฉพาะ ห้ามใช้ยาระบายสำหรับคนกับแมวเป็นอันขาด
   
          เพราะฉะนั้นแม้ปัญหานี้จะไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่ แต่มันก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ถ้าเราไม่รู้จักที่จะป้องกันแต่เนิ่นๆ การดูแลเอาใจใส่จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง อย่าปล่อยให้ปัญหาเกิดแล้วตามไปแก้ทีหลัง อย่างที่โบราณว่าไว้ "กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน" นะคะ